Success Case : บริษัท เรียนรู้วิทยาศาสตร์ จำกัด ซายเอนเทีย ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก


26 ก.ค. 2566    apichana    5

     เมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์ หลายคนคงนึกถึงความยากและความน่าเบื่อในห้องเรียนมาเป็นอันดับแรกเสมอ ภาพจำเหล่านั้นกำลังจะเปลี่ยนไป “ซายเอนเทีย” ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่จะมาเปลี่ยนแปลงความน่าเบื่อของวิทยาศาสตร์ให้กลายเป็นห้องเรียนแห่งความสุขสนุกไปกับความรู้ดี ๆ ด้วยการสร้างสรรค์สื่อการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ที่มอบประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้เรียน พร้อมนำหลักสูตรการเรียนวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกามาดัดแปลง และประยุกต์ให้สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทย

 

 

คุณศิริพันธ์ ภัทรเบญจพล ผู้ก่อตั้งซายเอนเทีย ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับเด็ก เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจว่า

     “จากกระดาษข้อสอบแข่งขันวิทยาศาสตร์ของนักเรียนประถมศึกษาชั้นปีที่ 3 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในปีพุทธศักราช 2549 ได้จุดประกายให้เกิดความรู้สึกอยากส่งลูกที่อยู่ในช่วงประถมศึกษาตอนต้นพอดีเข้าร่วมการสอบแข่งขันสำหรับเด็กเล็ก วิธีการเรียนรู้เพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการจำเป็นต้องสร้างประสบการณ์ที่ดี สนุกสนานและมีความสุข จึงชักชวนเพื่อนร่วมชั้นเรียนของลูกและเพื่อนผู้ปกครองจัดกลุ่มเล็กๆ มาเริ่มกิจกรรมหลังเลิกเรียน โดยนำวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา ธรรมชาติวิทยา และวิทยาศาสตร์มาสอนเด็กๆ โดยแทรกกิจกรรมที่เน้นการลงมือทำ การเก็บตัวอย่างใบไม้ การจัดแสดงพรรณพืชชนิดต่างๆ การสอนการจำแนก การทดลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความเข้าใจ โดยมีคำขวัญให้กับเด็กๆ ว่าให้ “สนุกกับการเรียนรู้พร้อมสู่การแข่งขัน” และได้นำนักธรรมชาติวิทยา นักดาราศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์มาช่วยสอนโดยเน้นการแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ และแนวคิดเพื่อสร้างช่วงเวลาที่ดีให้กับเด็กๆ มีกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัวมาทัศนศึกษานอกสถานที่ เช่น ป่าชายเลน สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิชาวิทยาศาสตร์

 

หลายปีผ่านไปกับกิจกรรมหลังเลิกเรียนกับเด็กกลุ่มเล็กๆ พร้อมกับการเติบโตของเด็ก ทัศนคติ ความรู้และทักษะ สร้างความสามารถทางการแข่งขันให้กับเด็กๆ จนสามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตในรูปแบบที่ตนต้องการ จำนวนเด็กๆ ที่เข้าร่วมกับทางซายเอนเทียมากขึ้นเรื่อยๆ ทางศูนย์จึงได้จัดตั้งเป็นหน่วยธุรกิจในนาม “บริษัท เรียนรู้วิทยาศาสตร์ จำกัด” ในปีพุทธศักราช 2557 โดยมีคำมั่นสัญญาว่า เราจะแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในวิชาวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กๆ ให้บรรลุขีดความสามารถสูงสุดอย่างมีความสุขบนเส้นทางแห่งความสำเร็จ เพื่อชีวิต เพื่ออนาคต”

 

 

แนวคิดธุรกิจแบบฉบับ ซายเอนเทีย

     ความสำเร็จของเด็ก ๆ มากกว่า 350 เหรียญรางวัล 1500 เกียรติบัตร ในช่วงเวลาที่ผ่านมากว่า 15 ปี เทียบกับจำนวนเด็กไม่มากที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบลงมือทำ สร้างแรงบันดาลใจที่ในการสร้าง “ซายเอนเทีย” ให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศ พร้อมทั้งการขยายสาขาหรือหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้แพร่หลายมากขึ้นเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันทางด้านวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีให้กับเด็กไทยให้สามารถต่อยอดสร้างนวัตกรรมและองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

     “เราได้กำหนดแนวคิดปัจจุบันว่า ‘เรียนรู้อย่างฉลาด เก่งวิทยาศาสตร์ที่ซายเอนเทีย’ อนาคตอันใกล้เราพยายามผลิตสื่อการเรียนรู้วิทยาสาสตร์เพื่อจำหน่ายให้มากขึ้น และต้องการขยายสาขาผ่านระบบแฟรนไชส์เพื่อให้แบรนด์สินค้าและบริการทางด้านการศึกษาของไทยเทียบชั้นกับต่างประเทศได้” คุณศิริพันธ์กล่าว

 

 

     ผลิตภัณฑ์และบริการของซายเอนเทีย ประกอบด้วย ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ที่สถาบัน ห้องเรียนออนไลน์และห้องเรียนเพื่อสอบแข่งขัน และสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และหลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกเสมือน Scientia in Metaverse ซึ่งมีจุดเด่นของหลักสูตรที่ครอบคลุมทักษะที่หลากหลาย เข้าเรียนง่ายเริ่มได้ทันที เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ สนุกสนานทุกครั้งที่มาเรียน มีผลงานและความสำเร็จที่จับต้องได้ เพื่อสร้างแฟ้มประวัติผลงานส่วนบุคคล และมีนักวิทยาศาสตร์เป็นผู้ดำเนินการสอนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.scientia.in.th และ Facebook Scientia ซายเอนเทีย ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์

 

การทำ Branding กับการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน

     ถึงแม้ว่าซายเอนเทียจะมีรูปแบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมือนใคร แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการทำให้ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้เป็นที่รู้จักได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายในยุคที่โรงเรียนสอนพิเศษเกิดขึ้นใหม่นับสิบ ไม่เพียงแต่มีโรงเรียนสอนพิเศษเกิดขึ้นใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสื่อการเรียนการสอน อาทิ เว็บไซต์ ยูทูบ ที่เปิดให้เรียนฟรี และผู้เรียนสามารถเลือกเรียนเองได้ตามความสนใจ และความต้องการ ซึ่งส่งผลกระทบกับธุรกิจโรงเรียนสอนพิเศษเป็นอย่างมาก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จคงขาดเรื่องการทำ “Branding” ไปไม่ได้ ซึ่งที่ผ่านมาซายเอนเทียเองก็ประสบปัญหาในการสร้างการรับรู้และการจดจำแบรนด์ รวมทั้งการสื่อสารแบรนด์ผ่านช่องทางการทำการตลาดต่างๆ เนื่องจากทางสถาบันมีผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นทีมงานสอนและนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในด้านการตลาดมากนัก ดังนั้นงานการตลาดจึงได้มีการว่าจ้างทีมงานภายนอกมาร่วมพัฒนา ซึ่งก็สร้างประสบการณ์ของแบรนด์ได้ในระดับหนึ่ง

 

     จากปัญหาดังกล่าวทำให้ซายเอนเทียเริ่มหันมาให้ความสนใจกับการทำ Branding อย่างจริงจัง ประกอบกับในช่วงเวลาที่ผ่านมากรมส่งเสริมอุตสาหกรรมได้จัดกิจกรรม “DIPROM Branding ปั้นนักขายแบบมืออาชีพ ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัล” จึงได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเนื่องด้วยรูปแบบของกิจกรรมตรงกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะพัฒนาธุรกิจ ในระหว่างการเข้าร่วมโครงการมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ และมีความเชี่ยวชาญทางด้านการสร้างแบรนด์โดยเฉพาะมาเป็นที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำ และมอบองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้ และหลังจากเข้าร่วมโครงการทำให้เราสามารถพัฒนาธุรกิจในเรื่องของ Branding ได้ครบทุกมิติ เริ่มต้นจากการกำหนดอัตลักษณ์ของ Brand CI และเป้าหมายของฐานลูกค้า (ปกครอง) ทำให้เกิดการปรับปรุงภาพลักษณ์สีของแบรนด์ให้ชัดเจน และง่ายต่อการจดจำ ปรับรูปแบบของ Packaging ใหม่ รวมทั้งปรับปรุง Renovate สถานที่ออกแบบใหม่ทั้งหมด

 

 

 

     นอกจากนั้น ยังได้เรียนรู้การเข้าถึงลูกค้า โดยใช้หลักการตลาดใน Social Media ทั้งการสร้างภาพจำจากแบนเนอร์ที่นำมาใช้โพส การสร้าง Element ที่ชัดเจน ทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเข้าถึงลูกค้าได้ง่าย รวมถึงการคิดคอนเทนต์โดยใช้หลักการ FAB ซี่งช่วยให้สื่อสารจุดเด่นของผลิตภัณฑ์และบริการไปยังกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น

 

 

 

     “ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเห็นได้ชัดจากการสร้างภาพจำให้กับผู้ปกครอง เพิ่มฐานลูกค้าผู้ปกครองและนักเรียนในตลาดต่างจังหวัด จากการเพิ่มจำนวนการเข้าถึงและทักหาในช่องทาง Inbox Facebook และ Line ส่วนยอดขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 30% (ในช่วงครึ่งปีแรก)” คุณศิริพันธ์กล่าว

 

     และนี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการที่เข้าร่วม “กิจกรรม DIPROM Branding ปั้นนักขายแบบมืออาชีพ ภายใต้โครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจไทยด้วยดิจิทัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566” กับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ที่ได้คัดสรรมาเพื่อเป็นแบบอย่างในการดำเนินธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการ SME ได้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่าง แนวทางในการพัฒนาธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและก้าวทันโลกยุคปัจจุบัน