นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการสภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตัวอย่างความสำเร็จในการนำเกษตรอุตสาหกรรมนำสู่เกษตรกร คือ “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกรับใหญ่” ต.กรับใหญ่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี จากเดิมเกษตรกรปลูกอ้อยส่งโรงงาน ครอบครัวละประมาณ 20-30 ไร่ ต่อมาครอบครัวขยาย ทำให้พื้นที่ปลูกอ้อยแต่ละครอบครัวจะลดลงเหลือ 5-10 ไร่
เมื่อสภาเกษตรกรฯ มีนโยบายเกษตรอุตสาหกรรมมุ่งให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนจากการขายวัตถุดิบ ให้นำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ในปี 2558 นายวิชิต พันธ์เพียร ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดราชบุรีจึงได้เกิดแนวคิดการทำน้ำอ้อย โดยรวมกลุ่มเกษตรกร เริ่มจากสมาชิก 40 คน วางแผนการผลิตโดยแบ่งพื้นที่ปลูกอ้อยส่งโรงงาน มาปลูกอ้อยพันธุ์สุพรรณบุรี 50 ด้วย และสามารถตัดได้ทั้งปี หลังปลูกได้ผลผลิตก็แปรรูปเป็น 2 ผลิตภัณฑ์คือลำอ้อยปอกเปลือกขายให้พ่อค้าที่คั้นน้ำอ้อยขาย และนำมาคั้นเป็นน้ำอ้อยขายให้บริษัทไร่ไม่จนจำกัด ไปทำน้ำอ้อยพาสเจอร์ไรส์ ผลปรากฏว่าเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายอ้อยให้โรงงาน 900 บาท/ตัน เป็น 1,500 บาท/ตัน อ้อย 2 ตันคั้นน้ำอ้อยได้ 1 ตัน ราคาขายน้ำอ้อยตันละ 8,000 บาท กิจการไปได้ดีจึงจดทะเบียนเป็น “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกรับใหญ่” มีการวางแผนการปลูกให้สามารถคั้นน้ำอ้อยได้ทั้งปี
นายจารุพันธุ์ จารโยภาส ผู้อำนวยการกองพัฒนาดิจิทัลอุตสาหกรรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมมีส่วนร่วมในการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนของเกษตรกรเป็นเกษตรอุตสาหกรรม เพื่อพัฒนาไปสู่ผู้ประกอบการ โ1ดยเห็นว่าควรวางแผนการพัฒนาทำผลิตภัณฑ์น้ำอ้อยให้หลากหลายเพิ่มขึ้นเช่น น้ำเชื่อม น้ำตาลปึก โดยมีรูปแบบเป็นก้อนจะสะดวกสำหรับคนเมือง หรือไปในแนวสมุนไพร เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ และหาแนวทางลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้เครื่องจักร โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมพร้อมให้การสนับสนุน ซี่งการปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอุตสาหกรรมสามารถทำให้เกษตรกรมีรายได้ทั้งปี ระบบกลุ่มมีความเข้มแข็ง เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น สำหรับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมมีแผนงานร่วมมือกับสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาตินำการพัฒนา 600 กลุ่มในปีนี้ ซึ่ง “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกรับใหญ่” เป็นกลุ่มเดียวที่ทำผลิตภัณฑ์น้ำอ้อย