กิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจและส่งเสริมตลาดโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง
08
ต.ค.
2021
N/A
4
ตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. ๒๕๖๑ - ๒๕๘๐ ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีเป้าหมายการพัฒนาที่มุ่งเน้นการยกระดับศักยภาพของประเทศในหลากหลายมิติบนพื้นฐานแนวคิด ๓ ประการ ได้แก่ (๑) “ต่อยอดอดีต” โดยมองกลับไปที่รากเหง้าทางเศรษฐกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และจุดเด่นทางทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย รวมทั้งความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศในด้านอื่นๆ นำมาประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สอดรับกับบริบทของเศรษฐกิจและสังคมโลกสมัยใหม่ (๒) “ปรับปัจจุบัน” เพื่อปูทางสู่อนาคตผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในมิติต่างๆ ทั้งโครงข่ายระบบคมนาคมและขนส่ง โครงสร้างพื้นฐานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและดิจิทัล และการปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการอนาคต และ (๓) “สร้างคุณค่าใหม่ในอนาคต” ด้วยการเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบการ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด ผสมผสานกับยุทธศาสตร์ที่รองรับอนาคตบนพื้นฐานของการต่อยอดอดีตและปรับปัจจุบัน พร้อมทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐให้ประเทศไทยสามารถสร้างฐานรายได้และการจ้างงานใหม่ ขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนในเวทีโลกควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้และการกินดีอยู่ดี รวมถึงการเพิ่มขึ้นของคนชั้นกลางลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศได้ในคราวเดียวกัน และปัจจุบันผู้คนในสังคมมีความนิยมซื้อขายสินค้าผ่านตลาดออนไลน์มากขึ้น ระบบตลาดของธุรกิจและวิสาหกิจชุมชนจึงต้องปรับตัวพัฒนาสู่ระบบตลาดออนไลน์ ควบคู่กับการตลาดแบบเดิม แต่ด้วยสื่อสังคมออนไลน์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งผู้ประกอบการบางกลุ่มไม่อาจก้าวตามการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ทัน เป็นผลให้การขับเคลื่อนธุรกิจและวิสาหกิจชุมชนสู่การตลาดยุคใหม่เป็นไปได้ช้า ดังนั้นหน่วยงานทุกภาคส่วนจึงให้ความสำคุญในการให้ความรู้และร่วมมือพัฒนาธุรกิจและวิสาหกิจชุมชนสู่การตลาดยุคใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล Virtual Reality (VR) มานำเสนอให้ผู้บริโภคและผู้สนสนใจทั่วไปเข้าถึงผลิตภัณฑ์ชุมชน
ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยกองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชนได้ดำเนินงานกิจกรรมให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนด้วยทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่สากลในทุกภูมิภาค โดยต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้อมูลของกระทรวงวัฒนธรรมที่ได้มีการจำแนกเป็น ๙ เสน่ห์มรดกวัฒนธรรมไทย และ ๘ วิถีวัฒนธรรม ได้แก่ อาหาร การแต่งกาย ที่อยู่อาศัย ประเพณี ภาษา อาชีพความเชื่อ ศิลปะพื้นถิ่นและเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ผ่านการพัฒนาฯ จึงได้กำหนดการดำเนินกิจกรรมเชื่อมโยงธุรกิจและส่งเสริมการตลาด โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเสมือนจริง (VR) ผสานเข้ากับโลกความเป็นจริงมาเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้เป็นต้นแบบการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อยอดการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก ระยะที่ ๑ สร้างระบบและสร้างการรับรู้ ให้ตอบโจทย์เทรนด์การตลาดยุคใหม่ เตรียมความพร้อมผลักดันสู่ระดับสากลต่อไป